วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องไข้หวัด
ไข้หวัด (Common Cold) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น จมูก คอ ไซนัส และกล่องเสียง โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักเป็นเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง และสามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ การรักษาไข้หวัดทำได้ด้วยการใช้ยา ควบคู่กับการนอนพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ
อาการของไข้หวัด
อาการของไข้หวัดจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัด จะมีอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหล
- คัดจมูก หายใจได้ไม่สะดวกเนื่องจากจมูกบวม และมีน้ำมูกอุดตันภายในจมูก
- ไอ และจาม
- เสียงแหบ
- อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว
นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สืบเนื่องมากจากไข้หวัด เช่น
- ไข้สูง 37-39 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะ หรือปวดหู
- ปวดหู หากมีอาการปวดมาก ๆ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่หู
- ปวดกล้ามเนื้อ
- สูญเสียการรับรู้รสชาติและกลิ่น
- มีอาการระคายเคืองที่ดวงตา หรือมีตาแดง ขี้ตาแฉะร่วมด้วย
- รู้สึกถึงแรงดันภายในหู และบริเวณใบหน้า
เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ความรุนแรงของอาการจะมีมากในช่วง 2-3 วันแรก ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง ทั้งนี้โรคไข้หวัดมักมีอาการประมาณ 7-14 วัน โดยในผู้ใหญ่และเด็กโตจะมีอาการประมาณ 7-10 วัน ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการประมาณ 10-14 วัน แม้อาการจะดีขึ้นแล้วแต่ผู้ป่วยอาจมีอาการไอหลงเหลืออยู่ต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะหายเป็นปกติ
ในระหว่างที่ป่วยเป็นไข้หวัด ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
ผู้ใหญ่
- ไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 5 วันขึ้นไป
- กลับมามีไข้ซ้ำหลังจากอาการไข้หายแล้ว
- หายใจหอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด
- เจ็บคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หรือมีอาการปวดบริเวณไซนัส
เด็ก
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในเด็กแรกเกิด-12 สัปดาห์
- มีอาการไข้สูงต่อเนื่องกันมากกว่า 2 วัน
- อาการต่าง ๆ ของไข้หวัดรุนแรงมากขึ้น หรือรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการปวดหัว หรือไออย่างรุนแรง
- หายใจมีเสียงหวีด
- เด็กมีอาการงอแงอย่างรุนแรง
- ง่วงนอนมากผิดปกติ
- ความอยากอาหารลดลง ไม่ยอมรับประทานอาหาร
ทั้งนี้อาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จะค่อนข้างคล้ายกัน อาจสับสนได้ แต่ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถสังเกตความแตกต่างได้โดยหากเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการจะเกิดอย่างรุนแรง และมีอาการหลัก ๆ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ อีกทั้งจะรู้สึกไม่สบายตัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่อาการไข้หวัดทั่วไปจะไม่รุนแรง และยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่จะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือไอ และมีน้ำมูก เป็นต้น
สาเหตุของไข้หวัด
ไข้หวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมีหลากหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยหอบหืดกำเริบได้ และเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่หูได้
ทั้งนี้เชื้อไวรัสไรโนไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางปาก ตา จมูก อีกทั้งยังแพร่กระจายในอากาศได้ ติดต่อกันได้ในกรณีที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัด หรือใช้ของใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย และไม่ล้างมือก่อนนำมือไปจับที่บริเวณตา ปาก และจมูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ มักเป็นไข้หวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่
- อายุ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี มีความเสี่ยงป่วยด้วยไข้หวัดสูง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเรื้อรัง หรือมีภาวะสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่ายกว่าปกติ
- ช่วงเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่มักจะเป็นไข้หวัดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน และหรือฤดูหนาว
- สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มจะป่วยด้วยไข้หวัดได้ง่าย และหากเป็นก็จะอาการรุนแรงกว่าปกติอีกด้วย
- อยู่ในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดได้ง่าย
การวินิจฉัยไข้หวัด
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยโรคไข้หวัดได้เองจากอาการที่เกิด แต่หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าเป็นอาการไข้หวัดหรือไม่ก็ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการที่เป็น และตรวจร่างกาย หากเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดา ก็จะไม่มีการตรวจเพิ่มเติม แต่หากแพทย์สงสัยว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจมากกว่าไข้หวัด แพทย์อาจสั่งตรวจด้วยวิธีการเอกซเรย์ และตรวจด้วยวิธีการของห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจน้ำมูก หรือการตรวจเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยยืนยันผลต่อไป
การรักษาไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาได้โดยตรง แต่บรรเทาอาการของไข้หวัดลงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- พักผ่อนมาก ๆ การนอนหลับจะช่วยให้อาการของไข้หวัดดีขึ้นได้ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหนัก ๆ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยยิ่งอ่อนเพลียมากกว่าเดิม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ผู้ป่วยไข้หวัดนั้นมักจะสูญเสียน้ำจากเหงื่อที่เกิดขึ้นจากไข้ และน้ำมูกที่มากพร้อมกับอาการคัดจมูก การดื่มน้ำให้มากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีประโยชน์จะช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การใช้ยาเพื่อรักษาไข้หวัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้อาการป่วยหายได้เร็วขึ้น โดยยาใช้รักษาไข้หวัด ได้แก่
- ยาแก้ปวดลดไข้ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและลดไข้ โดยยาที่นิยมใช้ได้แก่ ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน
- ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
- ยาลดน้ำมูก เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาแก้ปวดและยาแก้คัดจมูก ช่วยให้ไข้หวัดหายได้เร็วยิ่งขึ้น
- ยาแก้ไอ คือยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอมีเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลงและขับออกได้ง่ายขึ้น
ในรายที่มีอาการไอหรืออาการเจ็บคอร่วมด้วย บรรเทาอาการได้ด้วยการอมยาอมแก้เจ็บคอ หรือสเปรย์พ่นเพื่อช่วยให้ชุ่มคอมากขึ้น และลดอาการเจ็บคอลงได้
นอกจากนั้น อาจบรรเทาอาการหวัดด้วยการดมยาดม ซึ่งสารบางชนิดในยาดม เช่น การบูร เปปเปอร์มินท์ อาจช่วยให้รู้สึกเย็นในจมูกและรู้สึกว่าหายใจสะดวกขึ้น รวมทั้งอาจช่วยให้ไอน้อยลงด้วย
ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด
แม้ว่าไข้หวัดจะหายได้เอง แต่โรคนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดไปยังอวัยวะใกล้เคียงจนกลายเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้บ่อย คือ
- การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง (Otitis Media) เกิดขึ้นจากการที่เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสแพร่กระจายเข้าไปที่ด้านหลังของแก้วหู ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในหูชั้นกลาง โดยอาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ อาการปวดหู บางกรณีอาจมีหนองสีเหลือง หรือสีเขียวไหลออกมาจากหู อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการไข้ได้อีกด้วย หากปล่อยไว้จะทำให้แก้วหูทะลุได้
- โรคหอบหืด หรือการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไข้หวัดอาจไปกระตุ้นให้อาการกำเริบได้โดยสัญญาณที่สามารถเห็นได้หากเกิดอาการกำเริบคือ ภาวะหายใจหอบเหนื่อย และหายใจมีเสียงหวีด
- ไซนัสอักเสบ (Acute Sinusitis) เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้หวัด อาจเข้าไปภายในโพรงไซนัส และก่อให้เกิดอาการติดเชื้อภายในจนกลายเป็นไซนัสอักเสบได้
- คออักเสบ หากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียจากไข้หวัดแพร่กระจายเข้าไปภายในลำคอ จะทำให้เกิดอาการคออักเสบ ซึ่งนำมาสู่อาการเจ็บคอและไอ
- หลอดลมอักเสบ หากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดแพร่กระจายลงมาที่หลอดลมอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบได้ อาการที่เห็นได้ชัดคือ มีอาการไอมากขึ้น และมักไอเป็นชุด ๆ
- ปอดบวม เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยไข้หวัด มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสแพรกระจายลงไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งหากไม่รีบรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้
การป้องกันไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย แต่ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เนื่องจากเชื้อไวรัสติดต่อผ่านทางการหายใจได้ นอกจากนี้ ยังควรหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หากต้องหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับปาก จมูก และตาโดยที่ไม่ได้ล้างมือก่อน เพราะอาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
|