วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 องค์การบริหารส่วนตำบลคลองเรือได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่่องไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก (Dengue fever) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคสู่คนผ่านการกัดของยุงลายที่เคยกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี 1 ใน 4 สายพันธุ์ (DENV-1—DENV-4) ที่ทำให้เป็นโรคไข้เลือดออก ผู้ที่เป็นไข้เลือดออกอาจไม่มีอาการใด ๆ ไปจนถึงมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง ไข้เลือดออกรุนแรงอาจทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิต ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ไข้เลือดออก สาเหตุเกิดจากอะไร?
ไข้เลือดออก (Dengue fever) มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus: DENV) 1 ใน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 หรือ DENV-4 ผ่านการกัดของยุงลายบ้าน หรือยุงไข้เหลืองเพศเมีย (Aedes aegypti) สัตว์พาหะนำโรคที่ชอบออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายพาหะกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไวรัสเดงกีในระยะที่มีไข้หรือในระยะไวรัสแพร่กระจายในกระแสเลือด ไวรัสเดงกีจะเข้าไปฝังตัวภายในเซลล์ผนังกระเพาะอาหารและต่อมน้ำลายของยุงลายพาหะ และจะเข้าสู่ระยะฟักตัวและเพิ่มจำนวนใน 8 - 12 วัน จากนั้นเมื่อยุงลายพาหะไปกัดผู้อื่น เชื้อไวรัสเดงกีจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกกัดจนทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้มีอาการของโรคไข้เลือดออกภายใน 3 - 15 วัน
ไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี (DENV) ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกกว่าร้อยละ 90 มักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัดธรรมดา โดยเริ่มมีอาการใน 4-10 วันหลังจากที่โดนยุงลายพาหะกัดและผ่านพ้นระยะฟักตัวของไวรัสไปแล้ว ในกรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งที่ 2 และเป็นเชื้อไวรัสเดงกีต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก อาการของไข้เลือดออกอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever) อาการไข้เลือดออกแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะไข้สูง (Febrile phase) เป็นระยะที่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีมีไข้สูงลอยแบบเฉียบพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ ระยะไข้สูงมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ หน้าแดง
- ปวดเบ้าตา ปวดรอบกระบอกตา
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เบื่ออาหาร
- ปวดข้อ หรือปวดกระดูก
- มีจ้ำเลือด หรือผื่นแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนังร่างกาย
- อาจมีอาการปวดท้อง (บริเวณชายโครงขวา) กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่
- ระยะวิกฤต (Critical phase) เป็นระยะที่ 2 ของโรคไข้เลือดออกหรือประมาณ 3-7 วันหลังระยะไข้สูง ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้ ระยะวิกฤตเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกจากไข้สูง หรือช็อกจากอาการเลือดออกที่อวัยวะภายในที่เกิดจากสารน้ำในหลอดเลือดรั่วไหลออกนอกหลอดเลือด เช่น น้ำเหลืองรั่วไหลไปยังช่องปอด ตับ หรือช่องท้อง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชัก หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นที่นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ระยะวิกฤตมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง (บริเวณชายโครงขวา) ที่อาจมีสาเหตุจากภาวะตับโต (Hepatomegaly)
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ
- เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล
- ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
- มีจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
- หายใจลำบาก หายใจถี่เร็ว
- อาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีอาการซึม
- มือเท้าเย็น ตัวเย็น
- มีเหงื่อออกตามตัว
- ปัสสาวะน้อย
- ชีพจรเบาเร็ว
- ประจำเดือนมามาก หรือมานานผิดปกติ (ในเพศหญิง)
- ภาวะช็อกจากอาการขาดน้ำหรือเสียเลือด (Hypovolemic shock) ที่มักเกิดขึ้นใน 3-8 วันหลังจากที่มีไข้สูงลอย
- ไข้ลดลดลงอย่างรวดเร็ว (มักเกิดพร้อม ๆ กับภาวะช็อก)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (มักเกิดร่วมกับภาวะช็อก)
- ความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ วัดชีพจรไม่ได้ หรือความดันโลหิตลดต่ำในผู้ที่มีอาการรุนแรง
- ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก (Dengue shock syndrome)
- อาจเสียชีวิต
- ระยะฟื้นตัว (Recovery phase) เป็นระยะสุดท้ายของการเป็นไข้เลือดออก ผู้ที่ผ่านพ้นระยะไข้สูงที่ไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือผู้ที่ผ่านพ้นระยะวิกฤตมาแล้ว 1 - 2 วันจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว เป็นช่วงที่ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัว อาการต่าง ๆ ของโรคไข้เลือดออกค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ เส้นเลือดกลับมาทำงานตามปกติ โดยหากสังเกตเห็นผื่นแดงสาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกายแสดงว่ากำลังจะหายจากโรค เป็นระยะที่มีความปลอดภัย ระยะฟื้นตัวมีสัญญาณดังต่อไปนี้
- อาการทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ
- ไข้ลดลง อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ
- ชีพจรเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ปัสสาวะออกมากขึ้น
- ภาวะตับโตลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์
- อยากรับประทานอาหารมากขึ้น
- มีผื่นสีแดงเล็ก ๆ สาก ๆ เป็นวงสีขาวขึ้นตามร่างกาย
|